เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ทำลายสังโยชน์แล้ว ได้แก่ สังโยชน์ 10 อย่าง1 คือ
1. กามราคสังโยชน์ (สังโยชน์คือความกำหนัดในกาม)
2. ปฏิฆสังโยชน์ (สังโยชน์คือความกระทบกระทั่งในใจ)
3. มานสังโยชน์ (สังโยชน์คือความถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
4. ทิฏฐิสังโยชน์ (สังโยชน์คือความเห็นผิด)
5. วิจิกิจฉาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความสงสัย)
6. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ (สังโยชน์คือความถือมั่นศีลพรต)
7. ภวราคสังโยชน์ (สังโยชน์คือความติดใจปรารถนาในภพ)
8. อิสสาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความริษยา)
9. มัจฉริยสังโยชน์ (สังโยชน์คือความตระหนี่)
10. อวิชชาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความไม่รู้)
คำว่า ทำลายสังโยชน์แล้ว อธิบายว่า ทะลาย ทำลาย คือ ละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งสังโยชน์ 10 อย่าง รวมความว่า
ทำลายสังโยชน์แล้ว
คำว่า เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย อธิบายว่า ข่ายที่ทำด้วยด้าย เรียกว่า
ข่าย น้ำท่าเรียกว่า น้ำ ปลาเรียกว่า สัตว์น้ำ อธิบายว่า ปลาทำลาย ทำให้ขาด
ทำให้ฉีก ทำให้พัง ทำให้ข่ายพังทะลายแล้ว แหวกว่าย อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปได้ ฉันใด ข่ายมี 2 ชนิด คือ (1) ข่ายตัณหา
(2) ข่ายทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าข่ายตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าข่ายทิฏฐิ2
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละข่ายตัณหา สลัดทิ้งข่ายทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้
ละข่ายตัณหา สลัดทิ้งข่ายทิฏฐิได้แล้ว พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงไม่ข้องขัดในรูป
เสียง กลิ่น ฯลฯ รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้ และใน
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง คือ ไม่ยึด ไม่ผูก ไม่พัวพัน ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่
เกี่ยวข้อง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย

เชิงอรรถ :
1 สังโยชน์ คือกิเลสอันผูกมัดใจสัตว์ ทั้ง 10 ข้อนี้ เป็นสังโยชน์ตามแนวอภิธรรม พึงดูรายละเอียดจาก
อภิ.สงฺ. (แปล) 34/1118/285-288
2 เทียบกับความในข้อ 11/80-81

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :471 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า เหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา อธิบายว่า ไฟเมื่อไหม้เชื้อ
คือหญ้าและไม้ ไป ไม่กลับมา ฉันใด กิเลสเหล่าใดพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละได้
แล้วด้วยโสดาปัตติมรรค ท่านไม่มา คือ ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก
กิเลสเหล่าใดท่านละได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ฯลฯ กิเลสเหล่าใดท่านละได้แล้ว
ด้วยอนาคามิมรรค กิเลสเหล่าใดท่านละได้แล้วด้วยอรหัตตมรรค ท่านก็ไม่มา คือ
ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เหมือนไฟ
ไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว
เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย
และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[149] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คุ้มครองอินทรีย์
รักษาใจได้แล้ว ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (9)

ว่าด้วยผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
คำว่า เป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า
ภิกษุเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ เป็นผู้ประกอบด้วย
ความเป็นคนมีตาลอกแลกด้วยคิดว่า “รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดูแล้ว
ควรผ่านไปเลย” จึงเป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน หรือการเที่ยวไปไม่มีจุดหมาย
แน่นอน จากอารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :472 }